เครื่องหั่นผักมีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง?

เครื่องหั่นผัก หรือเครื่องแปรรูปผักและผลไม้ บางประเภทสามารถประยุกต์ใช้กับการแปรรูปเนื้อสัตว์ได้

สามารถจำแนกประเภทเครื่องหั่นผักได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ในบทความนี้ขอจำแนกประเภทเครื่องหั่นผักหรือเครื่องจักรแปรรูปผักและผลไม้ ตามรูปร่างของผลลัพธ์ที่ต้องการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. เครื่องหั่นเต๋า (Dicer) คือ เครื่องหั่นผักที่สามารถหั่นหรือแปรรูปผักและผลไม้ ให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยม ซึ่งอาจจะมีขนาดเท่ากันทั้ง 3 ด้าน หรือไม่เท่ากันทั้ง 3 ด้านก็ทำได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบเครืองหั่นผักนั้นว่ามีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากน้อยเพียงใด วัตถุดิบที่สามารถนำมาหั่นเต๋าได้ ควรเป็นวัตถุดิบที่มีความแข็งพอสมควร เช่น พืชหัวทุกชนิด แครอท หัวไชเท้า หัวบุก แอปเปิล สาลี่ ฯลฯ ผลลัพธ์การหั่นเต๋าที่ได้ออกมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์ ไม่มีความเสียหายต่อรูปทรง อีกทั้งไม่ควรนำพืชผักที่เป็นพืชใบมาทำการหั่นเต๋า เนื่องจากจะได้ผลลัพธ์การหั่นออกมาเป็นเพียงเศษผักชิ้นเล็ก ๆ นั่นเอง
  2. เครื่องสไลด์แผ่น (Slicer) คือเครื่องหั่นผักที่ตัดเฉือนวัตถุดิบให้มีผลลัพธ์ออกมาเป็นแผ่น นิยมใช้กับพืชหัวทุกชนิดที่มีเนื้อละเอียดแน่น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ไพล ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับพืชใบบางชนิดได้ เช่น กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ เป็นต้น โดยผลลัพธ์ที่ได้จะเหมือนกับการซอยผักด้วยมีดในชีวิตประจำวัน เครื่องหั่นผักแบบสไลด์แผ่นบางรุ่นไม่สามารถปรับความหนาของแผ่นสไลด์ได้ และบางรุ่นก็มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากพอที่จะปรับความหนาของแผ่นสไลด์ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความต้องการของผู้ใช้
  3. เครื่องสับหรือซอยเส้น คือ เครื่องหั่นผักประเภทนี้ส่วนใหญ่มักดัดแปลงวิธีการทำงานของเครื่องหั่นผักประเภทสไลด์แผ่นมาทำการต่อยอด ด้วยการเสริมใบมีดสำหรับกรีดวัตถุดิบให้เป็นเส้นก่อนที่วัตถุดิบจะเข้าสู่ใบมีดสไลด์แผ่น ผลที่ออกมาก็จะได้เส้นฝอยตามที่ต้องการ เครื่องหั่นผักประเภทนี้จึงสามารถทำการหั่นผักได้ 2 รูปแบบ คือ สไลด์แผ่น และ สับหรือซอยเป็นเส้นได้ภายในเครื่องเดียวกัน
  4. เครื่องหั่นผักเอนกประสงค์ คือ เครื่องหั่นผักที่รวมเอาการหั่นเต๋า สไลด์แผ่น และซอยให้เป็นเส้น มารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน โดยมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เครื่องหั่นผัก มัลติฟังก์ชัน หมายความว่าจะสามารถแปรรูปพืชผักในทุกผลลัพธ์ที่กล่าวมาข้างต้นได้ในเครื่องตัวเดียวกัน

บทความนี้เป็นการเรียบเรียงจากประสบการณ์ที่คลุกคลีในวงการเครื่องจักรแปรรูปอาหารของผู้เขียนเท่านั้น อาจจะไม่ตรงตามทฤษฎีของหลายๆท่าน ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย